เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [2. ทุกนิบาต] 8. กาสาววรรค 10. ทุติยปลายิตชาดก (230)
[158] ท่านทั้งหลายจงรีบรุกเข้าไป จงรีบบุกเข้าไป
จงโห่ร้องให้อึกทึกกึกก้องพร้อมกับพญาช้างที่ประเสริฐ
ในวันนี้ ประดุจสายอสนิบาตอันแผ่ซ่าน
ออกจากเมฆคำรามกึกก้องอยู่
ปลายิตชาดกที่ 9 จบ

10. ทุติยปลายิตชาดก (230)
ว่าด้วยการขับไล่ศัตรูแบบสายฟ้าแลบเรื่องที่ 2
(พระเจ้าคันธาระได้ตรัสสรรเสริญกองทัพของพระองค์ว่า)
[159] ธงสำหรับรถของเรามากมายมีจำนวนมิใช่น้อย
ถึงพลพาหนะก็กำหนดนับไม่ได้
ยากที่ศัตรูใด ๆ จะครอบงำย่ำยีได้
ดุจสมุทรสาครยากที่ฝูงกาจะบินข้ามพ้นได้
อนึ่ง กองทัพของเรานี้ก็ยากที่กองทัพอื่นจะครอบงำย่ำยีได้
ดุจภูเขาอันลมไม่สามารถจะพัดให้หวั่นไหวได้
วันนี้ เรานั้นมีกำลังเห็นปานนี้
ยากที่พระราชาเช่นท่านจะครอบงำย่ำยีได้
(พระราชากรุงพาราณสีโพธิสัตว์ทรงขู่ขวัญพระเจ้าคันธาระว่า)
[160] ท่านอย่าพูดพร่ำเพ้อถึงความที่ตนเป็นคนพาลไปเลย
เพราะว่าพระราชาเช่นท่านไม่สามารถจะยึดเอาราชสมบัติได้
เพราะท่านถูกความเร่าร้อน แผดเผาอยู่เสมอ
ดังนั้น จึงข่มขี่ครอบงำพระราชาเช่นเราไม่ได้
ท่านนั้นประดุจเข้าไปใกล้คชสารตกมันที่เที่ยวพล่านไปเพียงตัวเดียว
ซึ่งจักบดขยี้ท่านให้แหลกลานเหมือนเหยียบย่ำพงอ้อให้เป็นจุรณไป
ทุติยปลายิตชาดกที่ 10 จบ
กาสาววรรคที่ 8 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :107 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [2. ทุกนิบาต] 9. อุปาหนวรรค 3. วิกัณณกชาดก (233)
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

1. กาสาวชาดก 2. จูฬนันทิยชาดก
3. ปุฏภัตตชาดก 4. กุมภีลชาดก
5. ขันติวัณณนชาดก 6. โกสิยชาดก
7. คูถปาณกชาดก 8. กามนีตชาดก
9. ปลายิตชาดก 10. ทุติยปลายิตชาดก

9. อุปาหนวรรค
หมวดว่าด้วยอุปมาด้วยรองเท้า
1. อุปาหนชาดก (231)
ว่าด้วยการใช้ศิลปะในทางที่ผิดก่อให้เกิดโทษเหมือนรองเท้ากัด
(นายควาญช้างโพธิสัตว์กราบทูลพระราชาว่า)
[161] รองเท้าที่คนซื้อมาเพื่อต้องการความสบายเท้า
กลับนำทุกข์มาให้
รองเท้านั้นถูกความร้อนแผดเผา
ถูกพื้นครูดสี ย่อมกัดเท้าคนผู้นั้นนั่นแหละ ฉันใด
[162] ผู้ใดเกิดในตระกูลต่ำ ไม่ใช่อารยชน
เรียนศิลปวิทยาในสำนักของอาจารย์แล้ว
ผู้นั้นย่อมฆ่าตนเองด้วยศิลปวิทยาที่เรียนมา
ในสำนักของอาจารย์นั้น ฉันนั้น
บุคคลนั้นบัณฑิตเรียกว่า อนารยชน
เปรียบด้วยรองเท้าที่ทำไม่ดี
อุปาหนชาดกที่ 1 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :108 }